[โอเจเปย์ความรู้] ปรุงอาหารตามลำดับ さ し す せ そ

[โอเจเปย์ความรู้] ปรุงอาหารตามลำดับ さ し す せ そ

- in Japan
1375

🧑‍🍳ทำความรู้จักกับลำดับการใส่เครื่องปรุงรสของญี่ปุ่นกับหลัก sa (さ) shi (し) su (す) se (せ) so (そ)

สวัสดีครับเพื่อนๆ ชาว OJSAT พบกับโอเจคุงอีกแล้วนะครับ🐹

ไหน ใครชอบอาหารญี่ปุ่นยกมือขึ้น!🙋‍♂️

โอเจคุงชอบมากเลยล่ะครับ และดูจากที่ไปไหนมาไหนเราก็เจอร้านอาหารญี่ปุ่น ประเทศไทยคงเป็นอีกประเทศที่ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นมากทีเดียว อาหารญี่ปุ่นมีหลากหลายประเภทไม่แพ้อาหารไทย แต่อะไรเอ่ยที่มีความสำคัญมากในการทำอาหารให้มีรสชาติกลมกล่อมถูกปาก

ติ๊กต๊อกๆ⏱

🧂เครื่องปรุงรสนั่นเอง!

เครื่องปรุงรสภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 調味料 ちょうみりょう หรือเขียนเป็นตัวโรมาจิว่า choumiryou เพื่อนๆ รู้จักเครื่องปรุงของญี่ปุ่นชนิดไหนกันบ้างครับ คนไหนถนัดกินไม่ถนัดทำก็คงคุ้นกับเครื่องปรุงพื้นฐานอย่างโชยุที่พบได้ทั่วไปตามร้านอาหารญี่ปุ่น แต่ถ้าอยากลองทำอาหารดูบ้างจะทำยังไงดี

ดังนั้นวันนี้โอเจคุงจะพาเพื่อนๆ มารู้จักกับเครื่องปรุงรสอาหารพื้นฐานของญี่ปุ่น และลำดับการใส่เครื่องปรุงกันครับ สำหรับคนที่เป็นสาย(เน้น)กิน ไม่ถนัดงานครัวคงจะปวดหัวไม่น้อยกับเครื่องปรุงที่เรียงกันเป็นตับบนชั้นวางของในห้างสรรพสินค้า

ใครที่เป็นแบบนั้น…

เอาล่ะ หายใจลึกๆ แล้วท่องพร้อมกันว่า

さ (sa) し (shi) す (su) せ (se) そ (so)!

เพื่อนๆ ที่เรียนภาษาญี่ปุ่นคงจะรู้สึกคุ้นเคยกับคำเหล่านี้ ใช่แล้วครับ เครื่องปรุงพื้นฐานของญี่ปุ่นและลำดับการใส่เครื่องปรุงมีวิธีจำจากฮิระงานะ วรรค sa นั่นเอง

เอาล่ะเรามาดูกันเลยว่าแต่ละตัวมีที่มาจากคำว่าอะไร

ตัวแรก さ (sa) มาจาก さとう 砂糖 (satou) หรือน้ำตาลนั่นเอง

แล้วทำไมถึงต้องเริ่มปรุงด้วยน้ำตาลกันนะ?

เพราะว่าน้ำตาลมีโมเลกุลที่ใหญ่กว่าเกลือถึง 6 เท่า จึงซึมเข้าไปในวัตถุดิบยากกว่า รีบใส่ไปก่อนจะได้ละลายหมดไม่เป็นก้อนยังไงล่ะครับ นอกจากนี้น้ำตาลยังทำให้วัตถุดิบนุ่มลง และทำให้เครื่องปรุงอื่นซึมเข้าเนื้อได้ง่ายอีกด้วยครับ

ตัวที่สอง し (shi) มาจาก しお 塩 (shio) หรือเกลือ

เนื่องจากเกลือมีโมเลกุลที่เล็กกว่าน้ำตาล จึงซึมเข้าไปในวัตถุดิบได้อย่างรวดเร็ว ถ้าใส่ก่อนเป็นอันดับแรกรสชาติก็จะไม่กลมกล่อม จึงควรใส่ถัดจากน้ำตาลครับ และเกลือยังสามารถดึงส่วนที่เป็นน้ำในวัตถุดิบออกมา ช่วยให้อาหารมีอายุที่ยาวนานขึ้น นอกจากนี้เกลือยังใช้ทำอาหารจำพวกหมักดอง หรือนำมาใช้ทำให้สีสันของผักผลไม้สวยงามขึ้นด้วย

ที่เหลืออีกสามอย่างประกอบด้วย

す (su) จาก す 酢 (su) น้ำส้มสายชู

せ (se) จาก せうゆ 醤油 (seuyu) โชยุ

そ (so) จาก みそ 味噌 (miso) มิโซะ

เครื่องปรุงรสทั้งสามนี้ต้องใส่ทีหลังตามลำดับเพื่อไม่ให้สูญเสียรสชาติไป เนื่องจากเครื่องปรุงอีกสามชนิดที่เหลือหากโดนความร้อนนานๆ ก็จะสูญเสียกลิ่นหอมและรสชาติที่ดีได้ จึงควรใส่ทีหลังเพื่อให้อาหารกลิ่นหอมน่ารับประทาน และรสชาติอร่อยครับ

ถึงตรงนี้โอเจคุงคิดว่าคงมีเพื่อนๆ หลายคนที่งงว่า ทำไม せ (se) ถึงเป็นโชยุไปได้ล่ะ ก็เป็นเพราะว่าคำว่าโชยุ ในสมัยก่อนเขียนว่าเซยุ せうゆ (seuyu) ครับ โดยโชยุก็คือซอสถั่วเหลืองของญี่ปุ่น ส่วนเครื่องปรุงอย่างสุดท้ายอย่างมิโซะนั้น บางคนอาจจะไม่คุ้นหู แต่ถ้าพูดถึงซุปมิโซะก็คงจะรู้สึกคุ้นขึ้นมาบ้างใช่ไหมครับ มิโซะคือเครื่องปรุงรสของญี่ปุ่นที่เกิดจากการหมักถั่วเหลืองกับข้าวโดยมีเกลือเป็นส่วนผสม ส่วนน้ำส้มสายชูหรือ 酢 す (su) นั้นไม่ใช่น้ำส้มสายชูแบบที่ใส่ก๋วยเตี๋ยว แต่เป็นน้ำส้มสายชูของญี่ปุ่นซึ่งจะมีรสอ่อนกว่านะครับ

แม้ว่าลำดับการใส่เครื่องปรุงสามอย่างสุดท้ายจะเรียงเป็น す 酢 (su) น้ำส้มสายชู せうゆ 醤油 (seuyu) โชยุ みそ 味噌 (miso) มิโซะ ตามลำดับ แต่ว่าในการทำอาหารบางชนิดก็อาจไม่ได้เรียงลำดับการใส่เครื่องปรุงตามนี้ เช่น พวกของต้มก็อาจใส่น้ำส้มสายชูเป็นลำดับสุดท้าย เพื่อให้ได้รสเปรี้ยวชัดเจน เป็นต้น

เอาล่ะ หลังจากศึกษาลำดับเครื่องปรุงรสพื้นฐานของการทำอาหารญี่ปุ่นไปแล้ว เป็นยังไงบ้างครับ

คราวหน้าถ้าอยากลองทำอาหารญี่ปุ่นแต่ไม่รู้ว่าจะซื้ออะไรดี ก็มาท่องว่า さ (sa) し (shi) す (su) せ (se) そ (so) กันครับ

ก่อนจากกัน โอเจคุงขอกระซิบบอกเพื่อนๆ ทุกคนว่าเครื่องปรุงรสอาหารญี่ปุ่นไม่ได้มีเพียงเท่านี้ นอกจากน้ำตาล เกลือ น้ำส้มสายชูญี่ปุ่น โชยุ มิโซะแล้ว ยังมีพวกมิริน สาเกทำอาหาร ปลาโอแห้ง และอื่นๆ อีกนะครับ🥣👩‍🍳


สนใจสมัครเรียน หรือ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่

โรงเรียนสอนภาษา สมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่น ในพระบรมราชูปถัมภ์

สาขาพหลโยธิน 📞 02-357-1241-5

สาขาจามจุรี 📞 02-160-5073-4

You may also like

คอร์สเรียนภาษาญี่ปุ่น เดือนมีนาคม 2567

🌴 คอร์สเ