ปัญหาบ้านร้างในญี่ปุ่น

ปัญหาบ้านร้างในญี่ปุ่น

- in Japan
676

สวัสดีค่ะ เพื่อนๆ OJSAT กลับมาเจอกับบทความของอายอีกแล้วนะคะ

วันนี้เรื่องที่อายจะนำมาเสนอนั้นเกี่ยวกับปัญหาสังคมในประเทศญี่ปุ่น ที่เรียกว่าติดอันดับปัญหาที่แก้ยากอันดับต้นๆของประเทศเลยแหละค่ะ ปัญหาอันดับต้นๆที่หลายคนคงพอจะทราบกันดีอยู่แล้ว เช่น เรื่องของอัตราการเกิดต่ำ ปัญหาคนชรา การคุกคามหรือที่เรียกว่า harassment ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ หรือ การข่มเหงรังแกในที่ทำงาน เป็นต้น

นอกจากปัญหาเหล่านี้ เพื่อนๆทราบไหมคะ ว่ายังมีปัญหาอีกหนึ่งปัญหาที่เป็นเรื่องที่ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นปวดสมองกันไม่น้อยเลยทีเดียว นั่นก็คือเรื่องของบ้านร้างหรือ 空き家 (อะคิยะ) นั่นเองค่ะ

เพื่อนๆลองคิดดูสิคะ ว่าถ้าข้างบ้านของเพื่อนๆเป็นบ้านร้างสภาพสุดโทรม ซึ่งนอกจากจะทำให้บรรยากาศบริเวณนั้นไม่น่าอยู่แล้ว ยังเป็นอันตรายอีกด้วย เพราะถ้ามีพายุพัดหนักก็อาจจะทำให้มีเศษซากปรักหักพังของอาคารลอยไปกระทบกับอาคารบ้านเรือนบริเวณนั้น หรือแม้แต่ผู้คนที่เดินผ่านก็เป็นได้ ที่แย่ไปกว่านั้นคือถ้าหญ้าที่ขึ้นรกอยู่บริเวณรอบบ้านแห้งหรือมีคนที่สะเพร่าทิ้งขี้บุหรี่ก็อาจจะทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้นได้

เมื่อต้นเดือนเมษายนได้มีข่าวเกี่ยวกับบ้านร้างแห่งหนึ่งที่จังหวัดเฮียวโกะ เมืองฮิเมจิ ซึ่งบ้านร้างแห่งนี้ได้ถูกปล่อยร้างมาเป็นเวลามากกว่า 50 ปี จนหลังคามีสภาพทรุดโทรมพังลงมา หญ้าขึ้นรกล้อมรอบบ้านอยู่ แต่ทางเจ้าหน้าที่เมืองฮิเมจิบอกว่าไม่สามารถเข้าไปจัดการหรือรื้อถอนได้ เพราะว่ามีคนเป็นเจ้าของอยู่ถึง 200 กว่าคน!!

เมื่อสอบถามกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายเคหะของเมืองฮิเมจิแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ให้เหตุผลว่า ที่ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือปรับสภาพบ้านร้างแห่งนี้ได้ เป็นเพราะคนที่เป็นเจ้าของบ้านหลังนี้มีตั้งแต่รุ่นหลาน เหลน ลื่อ ไปจนถึงรุ่นลืบกันเลยทีเดียว เจ้าของคนแรกของบ้านร้างแห่งนี้เกิดเมื่อสมัยเอโดะ หรือปีค.ศ.1863 และเสียชีวิตในปี 1940 ซึ่งเมื่อสมัยก่อน ลูกชายคนแรกจะเป็นคนที่รับมรดก แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อปี 1947 ได้มีการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายขึ้น และคนที่รับมรดกสามารถที่จะเป็นได้ทั้งคู่สมรสหรือพี่น้อง ซึ่งต้องเป็นคนในครอบครัว แต่เมื่อปี 1951 ลูกชายคนโตได้เสียชีวิตลงจึงทำให้บ้านนี้ตกเป็นของพี่น้องที่เหลือทั้ง 7 คน

ซึ่งตอนนั้นไม่มีใครมารับบ้านแห่งนี้ไปเป็นเจ้าของ จึงทำให้บ้านแห่งนี้ตกทอดไปจากรุ่นสู่รุ่น จนปัจจุบันมีคนที่มีสิทธิ์ในบ้านแห่งนี้เป็นจำนวนถึง 93 คน เพื่อความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ของเมืองฮิเมจิได้มีการนำรั้วไปวางและสร้างแผงกั้นเศษหิน โดยมีค่าใช้จ่าย 530,000 เยน ซึ่งทางเมืองฮิเมจิก็ได้ส่งใบแจ้งหนี้ค่าใช้จ่ายไปให้เจ้าของทั้ง 93 คน แต่ได้รับการตอบกลับเพียงแค่ประมาณ 20 คน และรวบรวมเงินได้เพียง 44,000 เยนเท่านั้น ซึ่งถ้าจะให้รื้อถอนบ้านทั้งหลังเลยก็จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านเยน และคงเป็นเรื่องยากที่จะรวบรวมเงินได้ครบ เพราะคนที่เป็นลูกหลานส่วนมากก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนมีสิทธิ์ครอบครองและเป็นเจ้าของบ้านร้างแห่งนี้

ที่ปรึกษาทางด้านอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่นได้กล่าวว่า อีกประมาณ 15 ปีหลังจากนี้ 1 ใน 3 ของบ้านในญี่ปุ่นจะเป็นบ้านร้าง ตั้งแต่ปี 1988 จนถึงปี 2018 จำนวนบ้านร้างเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 เท่า ในจำนวนนี้นอกจากบ้านที่ปล่อยเช่าและขายแล้ว บ้านร้างส่วนมากทำด้วยไม้จึงทำให้ทรุดโทรมได้ง่ายและเร็ว

ซึ่งถ้าเจ้าของตัดสินใจที่จะปล่อยเช่า ก็อาจจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขบ้านก่อนจะปล่อยให้เช่า ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3,000,000 เยนสำหรับการปรับปรุงบ้านที่มีอายุ 30 ถึง 40 ปี ซึ่งการเก็บค่าเช่าให้ได้คุ้มกับค่าใช้จ่าย ในการปรับปรุงบ้านนั้นเป็นเรื่องยากสำหรับบ้านที่ไม่ได้อยู่ใจกลางเมือง เพราะประชากรญี่ปุ่นลดลงและคนรุ่นใหม่เข้าไปทำงานในเมืองกันมากขึ้น

สาเหตุเหล่านี้จึงทำให้จำนวนบ้านร้างที่ญี่ปุ่นมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกๆปีและเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลจะเข้าไปจัดการได้ทั้งหมด ก็ต้องรอดูกันต่อไปนะคะ ว่าปัญหาบ้านร้างที่ญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร และทางรัฐบาลจะมีมาตรการที่การจัดการกับปัญหาพวกนี้อย่างไร หรือสถานการณ์โควิดจะทำให้คนทำงานที่บ้านแล้วหันมาหาซื้อบ้านที่อยู่ไกลจากตัวเมืองกันมากขึ้นก็เป็นได้นะคะ

コロナの影響で在宅勤務が一気に加速し、田舎の空き家に注目が集まるかもしれません。

https://www.mbs.jp/mint/news/2021/03/23/083328.shtml

สนใจสมัครเรียน หรือ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่

โรงเรียนสอนภาษา สมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่น ในพระบรมราชูปถัมภ์

สาขาพหลโยธิน 📞 02-357-1241-5

สาขาจามจุรี 📞 02-160-5073-4

You may also like

คอร์สเรียนภาษาญี่ปุ่น เดือนเมษายน 2567

🌴คอร์สเร