การเลือกปฏิบัติของคนในสังคม

การเลือกปฏิบัติของคนในสังคม

- in Japan
771

สวัสดีค่ะ เพื่อนๆ OJSAT วันนี้อายก็มีเรื่องราวที่จะมานำเสนอเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นอีกเช่นเคยค่ะ

โดยครั้งนี้อายจะขอมาอัพเดทข่าวสารที่สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของคนญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยต่อ ‘การเลือกปฏิบัติ’ ของคนในสังคม หรือที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 差別 (ซะเบ็ดซึ) ซึ่งถ้าใครได้ติดตามอ่านบทความที่อายเคยนำมาเสนอเมื่อครั้งก่อน คงจะจำได้ว่าเมื่อเร็วๆนี้ได้มีเรื่องของคุณลุงโมริ ผู้ซึ่งเป็นประธานจัดงานโอลิมปิกและพาราลิมปิก 2020 ที่ได้มีการให้สัมภาษณ์ในเชิงเหยียดเพศหญิง ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้คนญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก จนในที่สุดคุณลุงโมริก็ต้องลาออกจากตำแหน่งไป ถือได้ว่าข่าวที่เกี่ยวกับ ‘การเลือกปฏิบัติ’ ของคนญี่ปุ่นกำลังเป็นหัวข้อที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญมากในช่วงนี้เลยค่ะ

ข่าวที่อายจะนำมาแชร์วันนี้เป็นข่าวที่เกี่ยวกับ 差別 (ซะเบ็ดซึ) เช่นกัน แต่เป็นเรื่องของ ‘สีผิว’ ค่ะ

เมื่อเร็วๆนี้ได้มีข่าวซึ่งมีเนื้อหาว่า ร้านสะดวกซื้อ Family Mart ในประเทศญี่ปุ่นได้มีการเรียกคืนสินค้าที่วางอยู่บนแผงในร้านกลับคืน ซึ่งสินค้านั้นคือ ซับในของผู้หญิง เป็นจำนวนทั้งสิ้น 225,000 ตัว ซึ่งสินค้านี้เป็นแบรนด์ของ Family Mart ที่มีขายเฉพาะในร้าน Family Mart เท่านั้น

โดยคำบ่งบอกสีของซับในนั้นใช้คำว่า 肌色 (ฮาดาอิโระ) สำหรับสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเบจ (beige) ซึ่งคำว่า 肌色 (ฮาดาอิโระ) มาจาก 肌 (ฮาดา) ซึ่งแปลว่าผิว และ 色 (อิโระ) ซึ่งแปลว่าสี เมื่อนำคันจิ 2 ตัวนี้มารวมกันจึงแปลว่า สีที่เหมือนสีผิว

ซึ่งทาง Family Mart ได้บอกว่าพนักงานหลายคนเห็นถึงความไม่เหมาะสมของการใช้คำว่า 肌色 (ฮาดาอิโระ) มาเป็นตัวบ่งบอกสี แทนการใช้คำว่าสีน้ำตาลอ่อน ซึ่งแม้ว่า 肌色 (ฮาดาอิโระ) จะหมายถึงสีน้ำตาลอ่อนในความเข้าใจของคนญี่ปุ่นทั่วไป เพราะจะเป็นสีผิวของคนญี่ปุ่นส่วนมาก แต่การใช้คำว่า 肌色 (ฮาดาอิโระ) ก็ไม่สมควร เพราะคนเราก็มีสีผิวที่แตกต่างกันออกไป แม้ว่าจะเป็นคนญี่ปุ่นด้วยกันเองก็ยังมีคนที่มีผิวสีอ่อนและผิวสีเข้ม และสินค้าก็วางขายในร้าน Family Mart จึงไม่ได้มีแค่คนญี่ปุ่นเท่านั้นที่ซื้อ

ทาง Family Mart ได้ออกมาประกาศว่าจะมีการเก็บสินค้าที่ระบุคำว่า 肌色 (ฮาดาอิโระ) บนผลิตภัณฑ์และจะเปลี่ยนเป็นการใช้คำว่าสีน้ำตาลอ่อนแทน ก่อนที่จะนำกลับมาวางขายใหม่

นอกจากคำว่า 肌色 (ฮาดาอิโระ) แล้ว ทาง KAO บริษัทผลิตเครื่องสำอางรายใหญ่ของญี่ปุ่นได้มีการประกาศว่าจะยกเลิกการใช้คำว่า 美白 (บิฮะคุ) ในการโฆษณาผลิตภัณฑ์ ซึ่ง 美 (บิ) แปลว่า สวยงาม และ 白 (ฮะคุ) แปลว่า ขาว พอรวมกันจึงหมายถึงผิวที่ขาวสวย นอกจากนี้แล้วแบรนด์ลูกของ KAO ที่ชื่อว่า TWANY ก็จะมีการยกเลิกการใช้คำว่า ホワイトニング (whitening) และเปลี่ยนมาใช้คำว่า ブライトニング (brightening) ในการโฆษณาผลิตภัณฑ์แทน ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ต้องการจำกัดความหมายของคำว่าสวยให้หมายถึงความขาวเท่านั้น เพราะคำจำกัดความของคำว่าสวยของแต่ละคนแต่ละชาตินั้นก็แตกต่างกันไป

นอกจากเรื่องสีผิวแล้ว ความเท่าเทียมกันของเพศสภาพก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญมากขึ้น เช่น เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว สายการบินแห่งชาติของญี่ปุ่น JAL ได้มีการเปลี่ยนคำประกาศบนเครื่องบิน จาก Ladies and Gentlemen เป็นคำว่า all passengers หรือ everyone แทน

ส่วน Tokyo Disney Resort ก็ได้เปลี่ยนคำประกาศ ตั้งแต่วันที่ 18 เดือนมีนาคมเป็นต้นไป จาก Ladies and Gentlemen, Boys and Girls เป็น Hello Everyone ถึงแม้ว่าจะมีคนบางส่วนบอกว่าเป็นการกระทำที่เกินความจำเป็นแต่จากการให้สัมภาษณ์ความคิดเห็นของคนญี่ปุ่นทั่วไป คนส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างมากกับการเคลื่อนไหวดังกล่าว

‘การเลือกปฏิบัติ’ ของคนในสังคมไม่ได้เป็นประเด็นแค่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น เพราะหัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่คนทั่วโลกให้ความสนใจและรณรงค์เพื่อให้เกิดเสรีภาพและความเท่าเทียมกันมากขึ้น ถึงแม้ว่าตอนนี้ญี่ปุ่นจะอยู่ในอันดับที่ 120 ของ 156 ประเทศในรายงานดัชนีช่องว่างทางเพศ หรือ Global Gender Gap Report 2021 เพราะมีการเข้าร่วมของผู้หญิงในการเมืองและเศรษฐกิจน้อย แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากขึ้นในสังคมญี่ปุ่น 男女差別をなくしていきましょう!

https://matomedane.jp/candy/page/73725


สนใจสมัครเรียน หรือ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่

โรงเรียนสอนภาษา สมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่น ในพระบรมราชูปถัมภ์

สาขาพหลโยธิน 📞 02-357-1241-5

สาขาจามจุรี 📞 02-160-5073-4

You may also like

คอร์สเรียนภาษาญี่ปุ่น เดือนเมษายน 2567

🌴คอร์สเร